วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การเต้นจังหวะชะ ชะ ช่า


  • การเต้นรำจังหวะช่ะ ช่ะ ช่า            ในบรรดาจังหวะเต้นรำแบบละตินอเมริกันที่มีอยู่ด้วยกัน 5 จังหวะนั้น ช่ะ ช่ะ ช่า เป็นจังหวะเต้นรำที่มีกำเนิดหลังสุด กล่าวคือเป็นจังหวะที่รับการพัฒนามาจากจังหวะแมมโบ้ ( MAMBO) ซึ่งในอดีตเรียกชื่อจังหวะนี้เต็มๆ ว่า แมมโบ้ ช่ะ ช่ะ ช่า ต้นกำเนิดมาจากคิวบันการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากอิทธิพลของดนตรีที่พัฒนาไป ทำให้การเต้นรำพัฒนาตามไปด้วย
                ต้นกำเนิดของ ช่ะ ช่ะ ช่า เริ่มในปี ค.ศ. 1950 ขณะที่ดนตรีของคิวบันได้รับความนิยมอยู่ในอังกฤษนั้นได้มีเพลงจังหวะสวิง ( SWING) ซึ่งเกิดใหม่และนิยมกันมากเข้ามามีบทบาทแทรกแซงผสมผสานกับดนตรีของคิวบัน ทำให้เพลงของคิวบันที่เคยมีลักษณะนุ่มนวลเปลี่ยนเป็นเร็วขึ้น เครื่องดนตรีที่ใช้เคาะจังหวะเริ่มเล่นพลิกแพลงผิดเพี้ยนออกไป เริ่มเคาะให้ไม่ลงจังหวะ ( OFF BEAT) สไตล์ของดนตรีที่พัฒนามานี้จึงได้ชื่อว่า “ แมมโบ้ ” และมีการสาธิตเต้นรำจังหวะแมมโบ้ ในการประชุมนานาชาติเกี่ยวกับการเต้นรำ แบบบอลรูมที่แบลคพูลประเทศอังกฤษ ( INTERNATIONAL DANCE CONGRESS IN BLACKPOLL) รูปแบบการเต้นแมมโบ้พื้นฐานก็คือ ก้าวออกไปข้างหน้า 1 ก้าว แล้วถอยกลับ 2 ก้าว จากนั้นถอยหลัง 1 ก้าว แล้วก้าวไปข้างหน้า 2 ก้าว (ก้าวที่ 2 ย้ำอยู่กับที่) แมมโบ้ได้รับความนิยม ทั้งเพลงและการเต้นอย่างมากในอเมริกาและยุโรป ต่อมาแมมโบ้ได้พัฒนาจากที่เคยเร็วให้ช้าลงสำหรับการเต้นจากแมมโบ้ที่เคยเต้นเดินหน้า 3 ก้าวและถอยหลัง 3 ก้าวก็เพิ่มการชิดเท้าไล่กันไปข้างหน้า 2 ก้าว และชิดเท้าไล่กันไปข้างหลัง 2 ก้าว ซึ่งเป็นรูปแบบของ ช่ะ ช่ะ ช่า ในปัจจุบันที่ได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก
                การเต้นรำจังหวะ ช่ะ ช่ะ ช่า นี้ได้เข้ามาสู่ประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2498 โดยชาวฟิลิปปินส์ ชื่อ มิสเตอร์เออร์นี่ นักดนตรีของวง “ ซีซ่า วาเลสโก ” ได้นำลีลาการเต้น ช่ะ ช่ะ ช่า และการเขย่ามาลากัส (ลูกแซ็ก) มาประกอบเพลงเข้าไปด้วย ซึ่งลีลาการเต้นนี้เป็นที่ประทับใจบรรดานักเต้นรำและครูสอนลีลาศทั้งหลาย จึงได้ขอให้มิสเตอร์เออร์นี่สอนให้ การเต้น ช่ะ ช่ะ ช่า ตามแบบของมิสเตอร์เออร์นี่จึงถูกถ่ายทอดและมีอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าในภายหลังได้มีการนำรูปแบบการเต้นที่ถูกต้องตามมาตรฐานสากลเข้ามาแทนที่แล้วก็ตาม

  • ไม่มีความคิดเห็น:

    แสดงความคิดเห็น